Archive

Archive for the ‘Books’ Category

ราโชมอน ในป่าละเมาะ ราโชมอน ราโชมอน และอุโมงค์ผาเมือง

November 4, 2012 1 comment

ฝนตก ทำให้ผมต้องหลบฝนบริเวณทางเดินหน้าทางเข้าหอสมุด
บริเวณนี้ทุกๆ ปลายเดือนจะมีการจัดโต๊ะขายหนังสือ
หนังสือที่นำมาขายล้วนผ่านการคัดเลือกแล้วว่าเหมาะสม
และน่าจะเป็นที่สนใจของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้
มหาวิทยาลัยที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ผมสะดุดตากับรูปเล่มและการออกแบบหน้าปกของหนังสือเล่มหนึ่ง
หน้าปกเขียนว่า “ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ” ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ เขียน
สภาพฝนก็ไม่มีท่าทีว่าจะหยุดตกในเวลาอันใกล้
ครั้นจะไปนั่งห้องสมุด อุณหภูมิและความชื้นก็ทำให้ผมคัดจมูกและปวดหัวทุกครา
ผมจึงตัดสินใจยอมแลกกระดาษมีค่าเป็นตัวเลขในมือ
เพื่อเปลี่ยนเป็นชุดกระดาษที่มีคุณค่าเป็นตัวอักษรตรงหน้า
180 บาทคือราคาที่เสียไป บนปกหลังเขียนไว้ว่า 200 บาท
จริงๆ แล้ว การลดราคาหนังสือไม่ใช่เรื่องที่ผมสนใจสักเท่าไร
เพราะคุณค่าที่ได้กลับมาไม่อาจเทียบเคียงออกมาเป็นตัวเลขได้สักครั้ง
แม้เล่มที่ซื้อมาแล้วรู้สึกไม่คุ้ม ก็ไม่ได้เสียดายเบี้ยที่เสียไป หากแต่เสียดายเวลา

เกริ่นเยอะไปแล้ว เข้าเรื่องกันเถอะ

ผมหาที่ยืนอ่านแถวนั้นเพื่อรอฝนหยุดตก
แน่นอนว่า เรื่องแรกที่พลิกไปอ่านก่อนคือ “ราโชมอน”
เพราะต้องการอ่านต้นฉบับของภาพยนตร์ “อุโมงค์ผาเมือง”
ที่นำบทละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน (ประตูผี)” ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มาดัดแปลง
คึกฤทธิ์เองก็ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์เรื่อง “ราโชมอน” ของอากิระ คุโรซาวะ อีกที

เมื่ออ่านเรื่องราโชมอน(ต้นฉบับ)จบ ก็พบว่า… มันไม่ใช่นี่ คนละเรื่องอ่ะ

“ราโชมอน” ถ้าจะให้แปลก็ประมาณ ประตูผี นั่นแหละ
เป็นชื่อประตูที่เป็นฉากของเรื่อง เป็นประตูขนาดใหญ่ มีหลังคา ประมาณประตูเมือง
ความตกต่ำของเกียวโตตามเนื้อเรื่อง กอปรกับประตูที่ถูกทอดทิ้งจนเริ่มสึกหรอไร้การซ่อมแซม
บริเวณนั้นจึงเป็นแหล่งที่ชาวเมืองเกียวโตไว้ทิ้งศพไร้ญาติ
เนื้อเรื่องก็จะตั้งคำถามด้านศีลธรรมได้อย่างเจ็บแสบ
ผมขอเล่าย่อๆ (ตามความจำ อาจมีผิดเพี้ยน) ดังนี้…
ชายคนหนึ่งไปหลบฝนใต้ประตูราโชมอน พบหญิงชรากำลังเก็บเส้นผมจากศพเพื่อนำไปขาย
ชายคนนั้นต่อว่าหญิงชราว่าหากินกับศพ หญิงชราตอบว่าไม่ทำก็อดตาย
ชายคนเดิมจึงทำร้ายหญิงชราเพื่อขโมยชุดกิโมโนโดยให้เหตุผลว่า
ในเมื่อหญิงชรายอมรับการกระทำอันไม่ควรเพื่อหากินแล้ว ก็ไม่ควรโกรธแค้นที่เขาทำกับนางเยี่ยงนี้

ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคดีฆาตรกรรมแบบในหนังอุโมงค์ผาเมืองเลย

ฝนยังคงรักษาจังหวะการตกอย่างสม่ำเสมอ ผมจึงอ่านเรื่องต่อไป ในป่าละเมาะ
แค่เริ่มอ่านก็… อา เรื่องนี้สินะ ที่คุโรซาวะ คึกฤทธิ์ และหม่อมน้อย นำพล็อตเรื่องมาใช้

เนื้อเรื่องก็ตามที่เห็นในอุโมงค์ผาเมืองนั่นแหละครับ
เพียงแต่ว่า ในป่าละเมาะ นั้น ไม่มีตอนจบ มีเพียงคำให้การของแต่ละคนเท่านั้น
กล่าวคือ ไม่มีบทสรุป ไม่มีบทเฉลย ผู้อ่านต้องตัดสินเองว่า “ความจริง” คืออะไร

เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมก็รู้ว่า การดัดแปลงโดยเพิ่มบทสรุปเข้าไปนั้น
เริ่มจากฉบับภาพยนตร์เรื่องราโชมอนของคุโรซาวะ
ซึ่งเป็นการนำเรื่องราโชมอน(ต้นฉบับ)มาฟิวชั่นกับในป่าละเมาะ
กล่าวคือ ใช้ฉากเป็นประตูราโชมอน
มีการเพิ่มตัวละคร “ชายคนหนึ่ง” จากราโชมอน(ต้นฉบับ)เข้าไปในเรื่องราโชมอน(ภาพยนตร์)
มีเด็กทารกที่ถูกทิ้ง ซึ่งผมเข้าใจว่านำมาแทน “หญิงชรา”
และนอกจากบทเฉลยความจริงของคดีฆาตรกรรมแล้ว
ตอนจบของภาพยนตร์ก็คือการนำตอนจบของราโชมอน(ต้นฉบับ)มาดัดแปลงใส่ลงไป
ในตอนที่ชายหลบฝนขโมยผ้ากิโมโนของทารกเพื่อจะนำไปขาย ชายเก็บฟืนก็ว่ากล่าว
แต่ที่จริงแล้ว ชายเก็บฟืนเองก็ขโมยมีดของหญิงสาว ภรรยาผู้ตายไปเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะถือสิทธิ์อันใดมาตัดสินหลักจริยธรรมของผู้อื่นว่ามิถูกมิควร
(รายละเอียดเพิ่มเติม ราโชมอนฉบับภาพยนตร์ http://pwttas.wordpress.com/2011/06/26/rashomon-1950/)

สรุปก็คือ ฉบับภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็น ราโชมอน(ประตูผี) หรือ อุโมงค์ผาเมือง

ก็ไม่ได้ดัดแปลงแก่นเรื่องตามที่หลายคน (รอบๆ ตัวผม) เข้าใจ
การเพิ่มตอนจบนั้นมีตั้งแต่ฉบับภาพยนตร์ของคุโรซาวะแล้ว
ซึ่งอุโมงค์ผาเมืองของไทยนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนจากฉบับภาพยนตร์ของคุโรซาวะอีกที
(ที่ฟิวชั่นระหว่างเรื่องสั้นต้นฉบับสองเรื่อง)
โดยการทำให้เป็นบริบทแบบไทย เช่น ฉาก ยุคสมัย ชื่อตัวละคร เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจในเรื่อง ในป่าละเมาะ/ราโชมอน/อุโมงค์ผาเมือง นี้ก็คือ
คำให้การที่ไม่ตรงกันของแต่ละคน ทุกคนล้วนโกหก
แต่มิใช่การโกหกเพื่อให้พ้นข้อกล่าวหา
ตรงกันข้าม ต่างสร้างเรื่องให้เสมือนว่าเป็นความผิดของตน
จากบทสรุปที่ “ชายหลบฝน” หรือ “คนบ้า” ได้ทิ้งไว้ก็คือ
—ทุกคนต่างก็โกหก สร้างเรื่อง เพื่อให้ตัวเองดูดีกันทั้งนั้น—

ไม่ว่ายุคสมัยไหน มนุษย์ก็ยังคงเป็นเช่นเดียวกันนี้

ปล. รายละเอียดการวิเคราะห์เปรียบเทียบเรื่องราโชมอน/ในป่าละเมาะแต่ละฉบับ
อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ” ในบทส่งท้ายของ วาด รวี

หนังสือเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน

July 4, 2012 4 comments

หนังสือเล่มไหนที่ทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยน?

ผมเคยได้ยินคำถามนี้หลายครั้ง แต่ละครั้งผมก็มักตอบไปแบบขอไปที หรือไม่ก็เอาฮา
ตัวอย่างเช่น… ขายหัวเราะ, หนังสือโป๊, นิยายจีนกำลังภายใน ฯลฯ

คราวนี้กับคำถามเดิม ทว่าจริงจังขึ้น
เพราะเป็นคำถามจากอาจารย์ในโครงการปริญญาโท สาขาการแปล
เป็นคำถามที่อาจารย์ให้เขียนในใบกรอกประวัติ
เลยเป็นครั้งแรกที่ผมนั่งคิดคำตอบอย่างจริงจัง

จริงๆ แล้ว ที่ผ่านมาที่ตอบกวนๆ ไม่ใช่เพราะอยากกวนหรอก
แต่มันตอบยาก สำหรับผม หนังสือทุกเล่มสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หมด
หลังๆ ยิ่งอ่านเยอะ ก็ยิ่งขี้เกียจไปนึกคิดว่าเล่มไหนที่มันเปลี่ยนตัวเรามากๆ
คือมันต่างจากเล่มที่ประทับใจ เล่มที่ชอบ… มันต่างกัน

แม้หนังสือทุกเล่มที่ผมอ่านจะมีอิทธิพลต่อความคิดและการดำเนินชีวิต
แต่ผมจะขอยกมา 5 เล่มหลักๆ ที่ถือว่าสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญๆ ให้กับผม
ซึ่งก็เป็น 5 เล่มที่ผมใช้เขียนในใบประวัติ เพียงแต่ในใบนั้น ไม่มีที่ให้ผมขยายความ

5 เล่ม แบ่งเป็น 3 ยุคสมัย

1. ปรัชญาเซน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ แก่นพุทธศาสน์ ของพุทธทาสภิกขุ

ปกติรักการอ่านอยู่แล้ว แต่สมัยเด็ก ส่วนใหญ่จะอ่านการ์ตูนเป็นหลัก ไม่ก็สารคดี วิทยาศาสตร์ทั่วไป แนวความรู้รอบตัวนั่นเอง ผมจะห่างๆ งานพวกนิยาย เพราะไม่รู้จะอ่านไปทำไม เนื้อเรื่องก็ซ้ำไปซ้ำมา แต่ดูหนัง ดูละคร และอ่านการ์ตูน (ตอนนี้รู้แล้วว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะไม่เจอเรื่องที่เจ๋งๆ เจอแต่พวกนิยายโลกชมพู นิยายน้ำเน่า) จนมาได้สัมผัสหนังสือที่เน้นเนื้อหาไปทางจิตวิญญาณ ประสบการณ์ทางธรรม… ผมก็ไม่ใช่คนเคร่งศาสนาสักเท่าไร เพราะมักจะตั้งคำถามต่อหลักธรรมและวิธีปฏิบัติอยู่เสมอ โดยเฉพาะพิธีกรรมทั้งหลายและพฤติกรรมของสงฆ์ แรงบันดาลใจที่หยิบหนังสือปรัชญาเซนมาอ่านก็คือ การฝึกคาราเต้ ซึ่งมีการพูดถึงหลักการต่างๆ ที่ใช้ในการต่อสู้และสามารถปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ สิ่งนั้นที่เรียกว่าปรัชญา และคือปรัชญาเซน เมื่อได้อ่าน ก็บรรลุซาโตริในหลายๆ เรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต การจัดการกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ฝึกให้เป็นคนมองและฟังอย่างละเอียด สังเกตความงามในชีวิตได้มากกว่าเดิม และก็เป็นที่รู้กันว่าปรัชญาเซนคือแนวคิดหนึ่งในกระแสพุทธศาสนา ก็เริ่มสงสัยว่า หลักพุทธธรรมนั้น แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ ถ้าเป็นอย่างปรัชญาเซน แล้วเราจะประกอบพิธีกรรมทำไม
ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจถึงหลักธรรมอันลึกซึ้งเลย หนังสือเล่มต่อมาจึงเป็น แก่นพุทธศาสน์ ซึ่งทำให้ผมบรรลุถึงหลักธรรมได้ปรุโปร่งยิ่งขึ้น
จุดเปลี่ยนที่ได้จากสองเล่มนี้คือ ทำให้เกิดความสนใจในปรัชญา ที่ไม่ใช่ศาสนา เพราะผมอ่านปรัชญาเซน ไม่ใช่ลัทธิเซน ผมอ่านแก่นพุทธศาสน์ ไม่ใช่บทสวด อีกทั้งบุคคลที่ผมชื่นชอบในขณะนั้น บรูซ ลี นักแสดงชื่อดัง ก็จบการศึกษาวิชาเอกปรัชญาด้วย

2. Twilight of the Idols กับ Thus Spoke Zarathustra ของ Friedrich Nietzsche

เมื่อเรียนปรัชญา หนังสือที่อ่านก็จะเป็นหนังสือปรัชญา แม้จะอ่านในวิชาเรียน แต่ก็ให้อะไรมากกว่าหนังสือเรียนวิชาอื่นๆ ผมเรียนปรัชญาไปเกือบ 3 ปี เจอคนนู้นคิดอย่างนู้น คนนี้คิดอย่างนี้ ใครถูกใครผิดไม่รู้ แต่เราเรียนเพื่อฝึกความคิด ตอนแรก เห็นด้วยกับเขาหรือเปล่าไม่สำคัญ สำคัญคือเราต้องเข้าใจว่าความคิดเหล่านั้นเป็นมาอย่างไร เมื่อเข้าใจแจ่มชัด ค่อยสำรวจดูว่าแนวความคิดนั้นๆ นำมาใช้ได้จริงหรือไม่ ถ้าเราจะเถียง เราจะใช้เหตุผลยังไง จนมาเจอนักปรัชญาเยอรมันนามว่า ฟริดริช นีทเช่ ผมต้องยอมสยบ… สิ่งที่เขาพูดเป็นเรื่องเข้าถึงยาก เข้าใจยาก แต่ครั้นเมื่อเข้าใจแล้ว คุณก็เถียงไม่ออก ได้แต่ยอมรับโดยดุษฎี นีทเช่พูดถึงหลายเรื่องตั้งแต่ศิลปะไปจนถึงการเมือง ตั้งแต่ก็ใช้ชีวิตไปจนถึงจิตวิทยา อีกทั้งความฉลาดหลักแหลมของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความคิด แต่รวมไปถึงความสามารถด้านภาษา คือภาษาเขียนของเขามีลักษณะเป็นกวีนิพนธ์ นักปรัชญาน้อยคนนั้นจะทำได้แบบนี้ ถึงขนาดในวงการวิชาการ บางคนไม่นับนีทเช่ว่าเป็นนักปรัชญา แต่มองว่าเขาเป็นกวีมากกว่า
สิ่งที่ผมได้จากนีทเช่ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเริ่มหันมามองงานวรรณกรรม วรรณคดี ความสำคัญของงานคลาสสิก และความสำคัญของงานแปล

3. Norwegian Wood by Haruki Murakami

คนชอบขีดๆ เขียนๆ ทุกคนก็อยากเขียนหนังสือออกมาเป็นเล่ม ไม่ว่าจะเขียนเพื่ออะไรก็ตาม
ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยไม่ได้หวังว่าจะยึดอาชีพนักเขียนมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพราะดูท่าแล้วคงยาก ยากทั้งในบริบทสังคมไทยและความสามารถ แต่จะเป็นเรื่องความสามารถมากกว่า ผมจึงได้แต่ฝันอยากเขียนนู่นเขียนนี่มาเรื่อย ลงมือเขียนจริงๆ ก็มักเป็นเรื่องสั้น ระบายอารมณ์บ้าง สื่อความคิดแปลกๆ บ้าง (อยากจะติสท์กับเขาบ้าง) คิดอยากเขียนนิยายสักเรื่อง ก็ไม่ลงตัวเรื่องพล็อตสักที ทั้งยังคิดว่า
ความสามารถเราคงยังไม่ถึง เก็บประสบการณ์ เก็บวัตถุดิบ ไว้รอตกผลึกค่อยเริ่มเขียนก็ได้ ถ้ามีชีวิตอยู่ถึง อายุสัก 60 ค่อยมาเขียนก็หวังว่าคงไม่สายเกินไป… ความคิดเหล่านี้ต้องหยุดชงักลงเมื่อได้สัมผัสงานของมุราคามิ จากที่ได้อ่านเรื่อง Norwegian Wood แล้ว รู้สึกได้เลยว่านักเขียนคนนี้ไม่ธรรมดา เนื้อเรื่องในหนังสือก็เรื่องความรักวัยรุ่นที่ออกจะดราม่าหน่อย แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ตามเนื้อหาเหล่านั้น มันไม่ธรรมดา อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน คือรู้ได้ทันทีว่านักเขียนคนนี้ ทำงานหนัก มีวินัยสูง พื้นฐานด้านวรรณกรรมแน่น… เมื่อมาค้นคว้าประวัติเขา ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
ปิดร้านผับแจ๊ซที่กำลังไปได้สวย เพื่อมาทำงานเขียนอย่างจริงจัง… ทำงานหนัก
มีระบบความคิดและวิธีเขียนชัดเจน วิธีการทำงานเป๊ะมาก แม้แต่การออกกำลังกายก็ไม่มองข้าม… วินัยสูง
จบการศึกษาด้านการละคร (ประมาณนั้น) คืออ่านงานคลาสสิกมาหมดแล้ว… พื้นฐานแน่น
จุดเปลี่ยนจากเล่มนี้ก็คือ ทำให้ผมเริ่มจริงจังกับการเขียน ไม่เคยรู้สึกอยากเขียนขนาดนี้มาก่อน
นี่ไม่นับเขียนไดอารี่ อัพบล๊อก โพสเฟซบุ๊คนะ หมายถึงการเขียนแบบจริงจัง เขียนนิยายนั่นแหละ
แต่ตอนนี้ ขอเริ่มจากบทหนังก่อนแล้ว เขียนเสร็จแล้วเอาไปขาย…

รีวิวหนังสือ: ฝนตกตลอดเวลา(ปราบดา หยุ่น)

May 15, 2007 6 comments
Categories: Books